Your cart is currently empty!
ลูกน้อง : คนสำคัญของหัวหน้า
โพสต์นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเจ้านาย/ลูกน้องรอบๆตัวนี่แหละครับ บวกกับกำลังอ่านหนังสือ “How to win friends and Influence people” อยู่ ก็เลือกหัวข้อเกี่ยวกับลูกน้องอันเป็นที่รักของหัวหน้าทั้งหลายมาเขียนให้อ่านกันครับ
ช่วงนี้กำลังอ่านหนังสือ “How to win friends and Influence people” อยู่ครับ มีหัวข้อนึงที่เอาไปใช้ได้ในหลายๆสถานการณ์คือ “คนทุกคนมีความ ‘กระหาย’ ที่จะเป็นคนสำคัญ” ก็เลยมีคำถามนึงว่า ลูกน้องเนี่ย เป็นคนสำคัญสำหรับเจ้านาย มั้ย?
ลูกน้อง “คนสำคัญ” สำหรับเจ้านาย
ในความคิดผม ลูกน้องเนี่ย เป็นคนที่สำคัญมากๆสำหรับเจ้านายเลยนะ ทั้งช่วยทำงานที่ล้นมือ ทั้งช่วยขายของ ทั้งต้องช่วยบริการลูกค้าให้เรา
ลูกน้องที่เรารับเข้ามาทำงาน . อย่างแรกเลย เราอยากให้เค้ามาช่วยทำงานของเราจริงมั้ยครับ . เราอยากทำงานหลายๆอย่างที่เรารับผิดชอบ งานที่มันมีเยอะมาก จนเราทำเองทุกอย่างไม่ไหว . งานบางอย่างที่เราไม่ถนัด เราต้องการคนที่มีความสามารถ ที่จะช่วยทำงานของเราให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพที่ดี
ลูกน้อง หรือพนักงานหลายๆคน เป็นคนที่จะต้องเจอกับลูกค้า . ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า . หรือแม้แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ช่วยโบกรถให้ลูกค้า พนักงานทำความสะอาดในออฟฟิศที่คอยช่วยเสริฟน้ำ เสริฟอาหารให้ลูกค้า . ถ้าท่านคิดว่าลูกค้าท่านเป็นคนสำคัญแล้วล่ะก็ คนที่เราจะให้ไปเจอลูกค้าของเรา ก็ควรจะมีความสำคัญไม่น้อยนะครับ
ข้อคิดอีกอย่าง ที่ผมมักจะพูดอยู่เสมอ คือ คำว่า “ลูกน้อง” มันคือ คำว่า “ลูก” กับคำว่า “น้อง” มาอยู่ด้วยกัน ดังนั้นเราปฏิบัติกับลูกกับน้องยังไง ก็ควรปฏิบัติกับลูกน้องของเราเหมือนกันครับ
หัวหน้าอย่างเรา ควรทำยังไงกับลูกน้องของเราดี?
อะ… ในเมื่อลูกน้องเป็นคนสำคัญของหัวหน้าทั้งหลายแล้ว เป็นลูกเป็นน้องของหัวหน้าแล้ว .. เจ้านายอย่างเราๆจะทำยังไงกับลูกน้องของเรากันดีครับ . ผมรวบรวมข้อคิดจากหนังสือหลายๆเล่มมาไว้ให้อ่านแล้วนำไปปรับใช้กันนะครับ
1ฟัง เราควรฟังลูกน้องให้เข้าใจเค้าได้ครบถ้วน ตามใจความ ครบถ้วนตามที่เค้าอยากจะบอกกับเราครับ . ในเมื่อลูกน้องคือคนสำคัญของเราแล้ว เราก็ควรจะให้ความสำคัญกับเค้าด้วยการฟังครับ ในหนังสือ “How to win friends and influence people” ได้บอกเอาไว้ในวิธีการปฏิบัติต่อผู้อื่น ข้อที่หนึ่งคือ เราไม่ควรตำหนิผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะคนแต่ละคนมีเหตุผลต่อการกระทำของตัวเองไม่เหมือนกัน . เราจึงควรสอบถาม และฟังลูกน้องของเราให้เข้าใจถึงสถานการณ์ของเค้าครับ ฟังให้เข้าใจ .
ในหนังสือ “พูดให้คนเข้าใจ ง่ายนิดเดียว” ก็พูดถึงเรื่องการฟังไว้ว่า เราควรอ่าน/ฟัง เพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เค้าพูด/เขียนออกมา ตั้งอยู่บนคำถามอะไร . เมื่อเราเข้าใจเค้าแล้ว เราถึงจะถึงจะคุยกับเค้าได้รู้เรื่อง
2สอนและแนะนำ เราเป็นหัวหน้างาน เรามีหน้าที่ในการสอนงานให้ลูกน้องของเรา เพื่อที่เค้าจะได้ทำงานที่เรามอบหมายไปให้ได้ถูกต้องนะครับ จริงอยู่ว่า เราจ้างเค้ามาเพื่อทำงานให้เรา เค้าควรจะทำงานได้แล้วสิ . ใช่ครับ เค้าทำได้ครับ แต่เค้าก็อาจจะทำได้ไม่ได้ตรงกับความต้องการของเราเท่าไหร่ ถ้าเราไม่บอกเค้าว่าเราอยากได้แบบไหนกันแน่ เค้าอาจจะยังไม่รู้ว่าวัฒนธรรมขององค์กรเราเป็นแบบไหน การบริการลูกค้าของเราต้องการให้เค้าทำแบบไหน ต้องพูดแบบไหนกับลูกค้า .. และอื่นๆอีกมากมาย
นอกจากนี้ ความรู้ความสามารถต่างๆในโลกนี้ยังมีให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย อาจจะมีเทคนิกใหม่ๆ อาจจะมีประสบการณ์อะไรบางอย่างที่เรารู้ แต่ลูกน้องเรายังไม่รู้ก็ได้ . ดังนั้น เราก็ควรจะสอนเค้า เพื่อให้ลูกน้องคนสำคัญของเรา ได้ทำงานได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีขึ้นครับ
ในหนังสือ “สิ่งสำคัญของชีวิต” คุณมานิต ได้พูดเอาไว้ว่า การที่ลูกน้องทำงานผิดพลาด คนที่ต้องรับผิดชอบเป็นคนแรกเลย คือหัวหน้า ครับ . คุณมานิต บอกว่า คนเป็นหัวหน้า จะต้องยืนเป็นต้นเหตุ คือ ถ้าลูกน้องเราทำงานผิดพลาด มันเป็นความผิดของเราที่เราสอนลูกน้องเราไม่ดีพอนะครับ
3ให้ฟีดแบ็ค เวลาที่ลูกน้องทำงานให้เรา หน้าที่อีกอย่างของหัวหน้าอย่างเรา ก็คือ เราต้องให้ฟีดแบ็ค เราต้องเป็นกระจกให้เค้าดู ดูว่างานที่เค้าทำมาให้เรา มีดี หรือไม่ดี ยังไงบ้าง เมื่อเค้าเห็นว่าเค้าทำได้ถูกต้องแล้ว เค้าจะได้ทำแบบนั้นต่อไป หรือถ้าเค้าทำงานได้ไม่ถูกต้อง ก็จะได้ปรับปรุง
การให้ฟีดแบ็คที่ดี คือการเป็นกระจกเงาให้ส่องครับ หัวหน้าอย่างเราแต่บอกสิ่งที่มันเกิดขึ้น อย่างเช่นเค้าทำงานให้เราข้ามคืนเลย ก็บอกไป เค้ามาสาย ก็บอกไป . และอย่าลืมที่จะบอกความรู้สึกของเราด้วยนะครับ ลูกน้องมาสาย เราไม่ชอบ ก็บอกไม่ชอบครับ ลูกน้องทำงานได้ดี แล้วเราชอบ ก็บอกเค้าไปด้วยครับ
4เปิดโอกาส เจ้านายควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้แสดงความคิดเห็น เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ลองทำอะไรบางอย่างบ้าง . ในเมื่อ ลูกน้องไปเป็นคนสำคัญของเจ้านายแล้ว ความคิดเห็นของลูกน้องก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกันครับ
วันก่อนครับ ได้ฟังพ็อดคาสท์ The Secret Sauce ที่คุณเคน นครินทร์ ได้สัมภาษณ์ ดร.ธนัย ชรินทร์สาร เกี่ยวกับการสร้าง Strategy ซึ่งเค้าได้พูดถึงการเก็บเกี่ยวข้อมูลจากลูกน้องด้วยครับ ซึ่งบางทีข้อมูลที่มีความสำคัญ อาจจะเป็นแค่ข้อมูลเล็กๆน้อยๆ ที่เค้าเรียกว่า weak signal หรือ “สัญญาณอ่อนๆ” เท่านั้นเอง . แต่เราต้องไม่ลืมนะครับ ว่าลูกน้องของเราเหล่านั้น เค้าเป็นคนที่เจอกับลูกค้าจังๆ เป็นคนที่รู้จักกับปัญหาหน้างานแบบลึกๆเลยล่ะ
สมัยเรียนปริญญาโท ผมเคยได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับโครงการ Quality Circle ซึ่งส่งเสริมให้พนักงานที่ทำงานอยู่ในไลน์การผลิตในโรงงาน ได้จับกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาที่เค้าเจอที่หน้างาน . ซึ่งมันเปิดโอกาสให้เค้าได้แสดงความคิดเห็น เปิดโอกาสให้เค้าได้ขับเคลื่อนองค์กรกันเอง โดยเจ้านายเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนเท่านั้นเอง . หรือในโรงงานของโตโยต้า มาตรการหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในไลน์ผลิตของเค้า ก็มาจากความคิดของพนักงานที่ทำงานในไลน์การผลิตนั้นเองล่ะครับ
อีกตัวอย่าง จาก The Secret Sauce Podcast ครับ เป็นตอนที่คุณเคน นครินทร์ ได้สัมภาษณ์คุณเวทิต โชควัฒนา ผู้บริหารจากมาม่า มีข้อคิดอยู่อย่างนึงที่ผมมักจะเอามาเล่าให้พนักงานได้ฟังเสมอ คือ “อย่า Kill Idea ลูกน้อง” หรือถ้าจะต้อง Kill idea ลูกน้อง เราจะต้องอธิบายเหตุผลของเราให้ละเอียดที่สุดเลยล่ะ… ไม่ใช่แบบ ฟังลูกน้องกำลังนำเสนอ แล้วก็คิดว่า ไอ้แบบนี้เราเคยทำมา เลยต้องบท ‘เออ น้อง แบบนี้พี่เคยทำมาแล้วล่ะ . เออ เอาแบบนี้นะ เอาตามพี่ว่า…’ ซึ่งการตัดบทแบบนี้นี่แหละ ที่ไม่ช่วยลูกน้องเราเลย … ในความคิดของผม ก็เพราะลูกน้องเราเป็นคนสำคัญของเจ้านายยังไงล่ะครับ เราก็ควรจะให้ความสำคัญกับความคิดของเค้าด้วย ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช้ความคิดของลูกน้องเรา เราก็ยังต้องอธิบายให้ละเอียด
5จากกันด้วยดี ลูกน้องเราอาจจะจากเราไปด้วยหลากหลายสาเหตุนะครับ ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตาย…. แต่ในบทความนี้จะขอกล่างถึงแต่การจากเป็นนะ ^^
ถ้าลูกน้องเราทำงานไม่ได้จริงๆ ถึงแม้ว่าเราจะสอน จะแนะนำแค่ไหนก็ตาม เค้าก็ยังขายของไม่ได้ ยังพูดจาไม่เพราะแบบที่เราอยากได้ ยังออกแบบได้ไม่สวยอย่างที่ใจเราต้องการ . มันไม่ใช่ว่าเค้าไม่มีความดีนะครับ แต่เค้าอาจจะไม่เหมาะกับการทำงานของเรา วัฒนธรรมของเค้าอาจจะไม่ตรงกับบริษัทเราก็เป็นได้ . สิ่งที่เราควรทำก็คือ ปล่อยให้เค้าไป ไปหางานที่อื่นครับ เค้าอาจจะเหมาะที่จะทำงานกับบริษัทอื่นมากกว่า . การที่รั้งเค้าเอาไว้ มันจะไม่ดีกับตัวเรา และตัวเค้าด้วยครับ
การจากกันอีกสาเหตุนึง คือ เป้าหมายของเค้าอาจจะไม่ตรงกับบริษัทเราแล้วน่ะครับ หรือ ลูกน้องเรา อาจจะเก่งเกินไป อาจจะเติบโตเติบใหญ่จนบริษัทเราไม่สามารถมีที่ให้เค้าเติบโตได้อีกแล้ว . ดังนั้นเราควรจะปล่อยให้เค้าได้ไปเติบโตในที่ที่เค้าจะสามารถเติบใหญ่ได้อีก
ไม่ว่าลูกน้องเราจะจากเราไปแบบไหน . ได้โปรด . อย่าโกรธแค้นลูกน้องของเรา ผมขอให้จากกันด้วยดีเถอะ . เราไม่สามารถรู้ได้เลย ว่าต่อไปเค้าจะไปได้ดียังไงบ้าง หรือเค้าจะไปลำบากอะไรบ้าง . แต่ ถ้าเราได้เจอลูกน้องเก่าของเรา เราก็จะได้คุยกับเค้าได้อย่างสนิทใจ สามารถถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ของกันและกันได้ครับ
ก็เพราะลูกน้องเรา เป็นคนสำคัญของเราไงล่ะครับ เวลาเค้าจากไป ก็อยากจะให้เค้าจากกันไปด้วยดีนะครับ
ถึงเจ้านายอันเป็นที่รัก
คุณเจ้านายที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ ผมได้เล่าถึงความสำคัญของลูกน้องไปแล้ว และข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติกับลูกน้องคนสำคัญของเราไปด้านบนแล้วนะครับ ผมขอปิดบทความนี้ด้วยข้อคิดที่ผมได้มาตอนไปอบรมการเป็นหัวหน้างานอีกซัก 2 ข้อนะครับ
คำว่า “หัวหน้า” คือคำว่า “หัว” นำ “หน้า” นะครับ เราควรใช้ “หัว” เราคิด ก่อนที่จะคำนึงถึงแต่ “หน้า” ของเรานะ
ข้อคิดอีกข้อ คือ หัวหน้ากับลูกน้อง จริงๆแล้ว ก็เป็นพนักงานเหมือนกันนะครับ เพียงแต่หัวหน้ากับลูกน้องมีหน้าที่ต่างกันเท่านั้นเอง ลูกน้องมีหน้าที่ทำงาน และหัวหน้ามีหน้าที่ช่วยให้ลูกน้องทำงานได้ราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะครับ
จบ..
by
Tags:
Leave a Reply